บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

การอุทิศส่วนบุญ[1]


การทำบุญโดยปกตินั้น คนไทยส่วนใหญ่มักจะไม่ทำให้กับตัวเองแต่เพียงอย่างเดียว แต่มักจะทำเผื่อญาติพี่น้องที่ตายไปแล้วด้วย

คนจำนวนหนึ่ง ไม่ได้ทำเพื่อตนเองเสียด้วยซ้ำ คือ ทำบุญเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับคนตายอย่างเดียว โดยไม่คิดว่า ตนเองจะได้บุญนั้นหรือไม่

อย่างไรก็ดี ชาวพุทธโดยทั่วไปนั้น ไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่า ญาติของเราได้รับหรือไม่  ได้แต่เสี่ยงบุญเสี่ยงกรรมเอา

ในประเด็นการทำบุญให้กับคนตายนี้ วิชาธรรมกายสามารถตรวจสอบได้ว่า ญาติตายแล้วไปอยู่ที่ไหน

เมื่อเราทำบุญทำกุศล เราก็ไปเรียกญาติให้มารับรู้ ในขณะที่เราทำบุญอยู่  ญาติของเราจึงได้รับบุญนั้นอย่างแน่นอน

ดังนั้น ในการทำบุญของกลุ่มที่นับถือวิชาธรรมกาย เช่นอย่างพวกผมเป็นต้น ผมมีความมั่นใจอย่างแน่นอนว่า พ่อแม่ญาติพี่น้องได้รับผลบุญอย่างแน่นอน

วันนี้จะวิพากษ์วิจารณ์บทความเรื่อง "ความเข้าใจหลักการทำบุญอุทิศให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว" ผู้เขียนคือ ดร. สุเทพ สุวีรางกูร

แหล่งที่มาของบทความก็ที่นี่ http://www.mbu.ac.th/index.php?option=com_content&task=view&id=1287&Itemid=148

เป็นเว็บของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย 

ดร. สุเทพ เขียนบทความนี้ ไม่ยาวนักจึงขอยกมาทั้งหมดเลย ดังนี้

พระพุทธศาสนาเห็นว่า คนและสัตว์ทุกประเภทเกิดมาในโลกนี้ ต้องตายอย่างแน่นอน

เมื่อตายไปแล้วก็จะไปเกิดตามแรงเหวี่ยงของกรรมการกระทำที่ตนเองสร้างทำเอาไว้  เป็นไปตามอำนาจแห่งกรรมดีและกรรมชั่วที่ตนเองเคยทำเอาไว้

กล่าวโดยสรุปมีอยู่ 2 เส้นทาง คือ ดีกับไม่ดี (สุคติและทุคติ) หากทำดีตายไปก็จะไปสู่สุคติ อันหมายถึงไปเกิดเป็นมนุษย์ เทวดา และพรหม

ถ้าทำกรรมชั่วก็จะไปสู่ทุคติ กล่าวคือไปเกิดเป็นสัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต และอสุรกาย

สำหรับผู้หมดกิเลสหรือพระอรหันต์ ย่อมปรินิพพานไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีก

ผู้ที่ยังมีกิเลสตัณหาตายแล้วไปเกิดใหม่แน่นอน

อะไรไปเกิด ตอบว่า จิตไปเกิดในชาติใหม่ภพใหม่ จิตดับดวงสุดท้ายไปเกิด จิตดวงนี้จะนำเอาบุญ บาป กรรม กิเลสติดตัวไปเกิด ด้วยเหตุนี้ ลักษณะมนุษย์จึงมีความแตกต่างกัน แม้มีพ่อแม่คนเดียวกัน

จึงพอสรุปได้ว่า สิ่งที่ทำให้มนุษย์มีลักษณะที่แตกต่างกัน มีอยู่ 2 สาเหตุใหญ่ๆ คือ กรรมเก่าและกรรมใหม่

กรรมเก่า คือ พฤติกรรมการกระทำที่เคยทำเอาไว้ในอดีตชาติหรือชาติปางก่อน

ส่วนกรรมใหม่ ก็คือการกระทำในปัจจุบัน เป็นการศึกษาเรียนรู้พัฒนา การทำงาน การต่อสู้ ที่เพียรพยายามทำในปัจจุบัน สามารถแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ตามเหตุปัจจัย เริ่มตั้งแต่เกิดจนถึงตาย

เกี่ยวกับความตายหรือหลังตาย ก็มีประเพณีนิยมทำบุญอุทิศให้กับผู้ตาย จะทำบุญอุทิศอย่างไร ทำแล้วผู้ตายจะได้รับหรือไม่ ถ้าได้รับจะได้รับอย่างไร หากไม่ได้รับจะเป็นอย่างไร

ในเรื่องนี้ ก็มีคนถามพระพุทธเจ้าเช่นกัน

เรื่องมีอยู่ว่า พราหมณ์ชื่อชานุสโสณี เข้าเฝ้าทูลถามปัญหาว่า พวกข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์ทำบุญให้ทานหลายอย่าง พร้อมกับอุทิศส่วนบุญกุศลให้กับผู้ตายว่า

ขอส่วนบุญส่วนกุศลนี้ จงสำเร็จแก่ญาติสาโลหิตทั้งหลายผู้ล่วงลับไปแล้ว ท่านทั้งหลายเหล่านั้นจะได้รับหรือไม่

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า จะได้รับหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย เพราะคนเราทำกรรมไว้ไม่เหมือนกัน ย่อมไปเกิดในที่แตกต่างกันดังที่กล่าวมา

การทำบุญอุทิศให้กับผู้ตายจะได้รับหรือไม่ได้รับต้องประกอบไปด้วยองค์ 3 ประการ คือ  

ผู้ตายไปเกิดในเปรตวิสัยหรือเกิดเป็นเปรต (เปรตเป็นอยู่ด้วยน้ำมูก เลือด หนอง คอยรับส่วนบุญจากญาติมิตรที่อุทิศไปให้อย่างเดียว)

ผู้ทำบุญอุทิศต้องอุทิศเจาะจงลงไป

ผู้รับหมายถึงพระภิกษุต้องมีศีลมีความประพฤติดีและปฏิบัติชอบ

ถ้าครบองค์ประชุมอย่างนี้ จึงจะได้ชื่อว่า เป็นการทำบุญอุทิศให้กับผู้ตายอย่างถูกต้องสมบูรณ์

แต่ถึงอย่างไร หากไม่ครบองค์ประกอบดังกล่าว ผลบุญกุศลที่ทำไปแล้วนั้น  พระพุทธเจ้าก็ตรัสยืนยันว่า ไม่เสื่อมสลายหายไปไหน ผู้ทำบุญอุทิศยังได้รับผลและอานิสงส์บุญดังนี้ คือ

เป็นที่รักของคนหมู่มาก
เป็นที่คบหาของคนดี
มีชื่อเสียงในทางดี
เป็นผู้องอาจสามารถในสังคม
เมื่อตายไปแล้วก็ไปเกิดในภพภูมิที่ดี

บทความนี้ ถือได้ว่าเป็นบทความที่ดีไม่มีข้อเสียในเนื้อหาของบทความแต่อย่างใด แต่สิ่งที่บทความไม่มีก็คือ

1) เราจะรู้ได้อย่างไรว่า บุญของเราที่ทำไป ญาติของเราได้รับหรือไม่?
2) ถ้าญาติเราไม่ได้เป็นเปรตประเภทที่สามารถรับการอุทิศส่วนบุญได้ แล้วเราจะทำอย่างไร?

โดยสรุป

จะเห็นได้ว่า งานเขียนต่างๆ ของนักปริยัติ/พุทธวิชาการนั้น แทบจะไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง เสียเวลาอ่านไปโดยเปล่าประโยชน์

งานเขียนดังกล่าวนั้น  อ่านไว้เพื่อประเทืองปัญญาเท่านั้น  แต่ไม่ได้ทำให้บุญบารมีของผู้อ่านเพิ่มขึ้นแม้แต่น้อย

เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ พระพุทธองค์ทรงกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า “ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ” 

ในเมื่อนักปริยัติ/พุทธวิชาการไม่ปฏิบัติเสียแล้ว  การศึกษาศาสนาก็เป็นไปเพื่อการทำมาหากินของพวกท่านทั้งหลายเหล่านั้นเท่านั้น




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น